รำลึก4ปีแผ่นดินไหวใหญ่เชียงรายเน้นตระหนักแทนตระหนก

16

วันที่ 5 พ.ค.61 ที่เทศบาล ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย นายทศพร นุชอนงค์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเสริมสร้างประสิทธิภาพระบบโครงข่ายชุมชนปลอดภัยจากธรณีพิบัติภัย เนื่องในวันครบรอบ 4 ปีการเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 5 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา ขนาด 6.3 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน บาดเจ็บอีกหลายราย มีบ้านเรือสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เสียหายเป็นจำนวนมาก จัดโดยสำนักงานทรัพยากรธรณีเขต 1 เทศบาล ต.ดงมะดะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยมีประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
กิจกรรมจัดมีการจัดนิทรรศการศูนย์เรียนรู้ธรณีพิบัติรายภาค เสวนาเรื่องแผ่นดินไหวภัยใกล้ตัวไม่น่ากลัวถ้าเตรียมพร้อม ฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการจนถึงวันที่ 7 พ.ค.61  นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย ได้จัดนิทรรศการการสร้างสิ่งปลูกสร้างให้ปลอดภัยในพื้นที่แผ่นดินไหว เช่น การทำเสา การสร้างบ้าน    เพื่อให้มีความยืดหยุ่นและแข็งแรง รวมมีการจัดแสดงภาพถ่ายความเสียหายในพื้นที่ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว และแสดงเครือข่ายองค์กร หน่วยงานและประชาชนที่เกี่ยวข้องเพื่อเฝ้าระวังภัยและรองรับสถานการณ์ในอนาคต
นายทศพร เปิดเผยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนถือว่าได้ทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้เราได้ทราบว่าภัยแผ่นดินไหวก็เหมือนภัยอื่นๆ ที่มักเกิดขึ้นโดยฉับพลันโดยตั้งตัวไม่ทัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องตะหนักในการเรียนรู้กันเป็นประจำโดยไม่ควรมองในมุมเดียวว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้า แต่ควรนำมาเรียนรู้เพื่อให้เกิดการร่วมกันป้องกันระวังภัย เพราะจากการศึกษาภัยแผ่นดินไหวที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศพบว่าอัตราการเสียชีวิตหรือบาดเจ็บไม่ได้เกิดจากภัยนั้นๆ โดยตรง แต่เกิดจากผลข้างเคียง เช่น วัตถุตกใส่ วิ่งเหยียบกัน   ดังนั้นคำแนะนำของหลายๆ ประเทศคือการหาที่กำบังตัว เช่น การมุดลงใต้โต๊ะหรืออยู่ในที่ปลอดภัย  การสร้างศูนย์เรียนรู้และเครือข่ายในพื้นที่ก็มีความสำคัญเพราะเป็นผู้ที่อาจจะประสบกับเหตุการณ์ภัยพิบัตินี้โดยตรงจึงเหมาะสมที่สุดและสามารถขยายไปยังท้องที่ใกล้เคียงที่เกี่ยวข้องคือ จ.เชียงใหม่ ลำพูน พะเยา กำแพงเพชร
นายทศพร กล่าวว่าในปัจจุบันมีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ที่สามารถทำความแรงได้มากถึง 7 ริกเตอร์ที่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุดคือรอยเลื่อนสะแกและรอยเลื่อนอื่นๆ ที่อยู่ใต้ลงมาอีกทั้งหมดอยู่ในประเทศเมียนมา สำหรับประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่ถือว่าอยู่ในแผ่นเปลือกโลกโดยในพื้นที่มีรอยเลื่อนสำคัญคือรอยเลื่อนแม่ลาวและรอยเลื่อนแม่จันที่ทอดผ่าน อ.แม่จัน-เชียงแสน อย่างไรก็ตามถือเป็นรอยเลื่อนที่ไม่ทำให้เกิดความรุนแรงในระดับ 8-9 ริกเตอร์แน่นอน แต่ก็มีความจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องได้เรียนรู้และนำมาปฏิบัติเพราะต้องยอมรับว่าเราก็อยู่ในเขตแผ่นดินไหว โดยเริ่มตั้งแต่สิ่งปลูกสร้างที่ควรเป็นไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงรายนำมาจัดแสดง การอบรมให้ความรู้ การสร้างเครือข่ายเพื่อเตรียมรับสถานการณ์  ส่วนภาครัฐเองมีการติดตั้งเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวทั้งของกรมทรัพยากรธรณีที่ใช้เพื่อการวิเคราะห์และของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ใช้ตรวจวัดระดับความแรงเอาไว้โดยครบถ้วนแล้ว แต่ก็เป็นการตรวจดูที่ปลายเหตุดังนั้นกิจกรรมเช่นนี้จึงสำคัญที่สุด.

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.