ยักษ์ใหญ่เดินเรือจี้รัฐพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเป็นHUB โลจิสติก แข่งสิงคโปร์

44

2

วันที่ 26 พ.ย.58 ที่อาคารพลตำรวจเอกเถา สารสิน รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นประธานในการเปิดการสัมมนาเชิงวิชาการด้านการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ร่วมกับเครือข่ายมหาวิยาลัยไทยด้านการจัดการโซ่คุณค่าและโลจิสติกส์หรือ Thai VCML โดยการสัมมนาครั้งนี้มีนายสุเมธ ตันธุวนิตย์ ประธานกรรมการบริษัทโงวฮก จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งทางเรือรายใหญ่ของประเทศไทย มาเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษเรื่องความท้าทายของการเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ทางทะเลของไทย
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การจัดสัมนาในครั้งนี้จะทำให้ได้องค์ความรู้จากผู้มีประสบการณ์ครั้งนี้จึงมีความจำเป็นอย่างมาก สำหรับมหาวิทยาลัยแมฟ้าหลวงจะมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านโลจิสติกและโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันได้จัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจชายแดนและโลจิสติกส์หรือ OBELS และเปิดทำการเรียนการสอนด้านโลจิสติกส์ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท เพราะถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ที่เราต้องศึกษาเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่มีอยู่ตลอดเวลาในโลกปัจจุบัน มหาวิทยาลัยจึงเป็นหน่วยงานศึกษา วิจัย รวบรวมข้อมูล ซึ่งในอนาคตธุรกิจโลจิสติกจะเป็นธุรกิจที่มีความก้าวหน้าสูงสุดและยั่งยืนอย่างแน่นอน
นายสุเมธ  ตันธุวนิตย์ ประธานกรรมการบริษัทโงวฮก จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์มากกว่าประเทศอื่นๆในูมิภาคเอเชียเป็นอย่างมากแต่ผู้ที่เกี่ยวข้องและทางราชการยังมองไม่เห็นความสำคัญของจุดนี้มากนัก ซึ่งปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียน ที่กำลังจะเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีอย่างเต็มตัว แบ่งเป็น 2 กลุ่มคืออาเซียนทางบกมีประเทศที่มีศักยภาพด้านการคมนาคมทางบกที่มีประชากรรวมกันประมาณ 300 ล้านคน และอาเซียนทางน้ำมีหลายประเทศมีภูมิศาสตร์ที่ตั้งเป็นทะเลรวมกันอีกประมาณ 300 ล้านคน รวมทั้งอาเซียนประมาณ 600 ล้านคน ซึ่งประเทศไทยมีภูมิศาสตร์ที่ดีในการเชื่อมโยงทางบกกับประเทศจีนและเป็นศูนย์กลางในการติดต่อของประเทศในอาเซียนอยู่แล้ว เมื่อประมาณ 60 ปีก่อนนายลี กวน ยิว อดีตผู้นำของประเทศสิงคโปร์เคยประกาศว่าจะพัฒนาสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางหรือฮับทางน้ำส่วนประเทศไทยให้เป็นฮับทางอากาศ
โดยที่ผ่านมาสิงคโปร์จึงอาศัยภูมิศาสตร์ทำการพัฒนาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องแต่สำหรับประเทศไทยแลวพบว่าฮับทางอากาศนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยีของยานพาหนะ โดยศักยภาพของเครื่องบินมีการพัฒนาให้บินสูงและบินนานได้เรื่อยๆ การจะเป็นฮับทางอากาศจึงขึ้นอยู่กับการสร้างสนามบินรองรับได้ดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกและที่สำคัญคือใช้ต้นทุนต่ำ ทำให้ปรากฎว่าในปัจจุบันประเทศดูไบในตะวันออกกลางกลานเป็นฮับทางการบินระหว่างประเทศไปแล้วเพราะสามารถพัฒนาได้เร็วกว่า แต่ประเทศไทยเราก็ยังคงได้ชื่อว่าเป็นฮับทางบกของภูมิภาคอยู่เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งที่อยู่ตรงกลาง ทำให้มีเส้นทางคมนาคมทางบกเชื่อมกับประเทศจีนที่มีประชากรและเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าประเทศจีนได้พัฒนาเส้นทางรถไฟจะเชื่อมผ่าน สปป.ลาว เข้ามาประเทศไทย  ทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเป็นฮับทั้งทางบก และทางน้ำของภูมิภาคนี้ได้โดยที่สิงคโปร์ไม่มีศักยภาพทางบกเหมือนไทย โดยในปัจจุบันเรามีท่าเรือแหลมฉบัง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ที่มีศักยภาพและสามารถพัฒนาให้เป็นฮับของไทยกับอาเซียนและของอาเซียนกับทั่วโลกได้ด้วย
“สิงคโปร์มีสินค้าผ่านปีละประมาณ 36 ล้านตู้ ซึ่งกว่า 90% เป็นสินค้าไทยมีแค่ 10% ที่เป็นของสิงคโปร์ ถ้าเอามาขนส่งผ่านประเทศไทยก็จะทำให้เราเป็นฮับทั้งทางบกเพราะมีศักยภาพและทางน้ำไปพร้อมๆ กันเลย ลักษณะหนึ่งของความเป็นฮับคือเรื่องของเกตเวย์ แหลมฉบังของเรามีลักษณะเป็นเกตเวย์ที่เชื่อมทะเลกับกลุ่มประเทศ CLMV คือกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม กับประเทศจีนได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องปรับปรุงแก้ไขคือที่แหลมฉบังยังมีตัวท่าเรือไม่เพียงพอ และกว่า 90% อยู่ในมือผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาลงทุน ด้านพิธีการศุลกากรของไทยก็มีขั้นตอนซับซ้อนโดยตรวจสอบสินค้าภายในตู้คอนเทนเนอร์แต่ที่สิงคโปร์จะนับแค่จำนวนเท่านั้น นอกจากนี้มีปัญหาเรื่องการตลาดและต้องการให้มีเรือที่เข้าไปจุดประกายท่าเรือแห่งนี้” ประธานกรรมการบริษัทโงวฮก จำกัด กล่าว
ในปัจจุบันประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียกำลังแข่งขันกันพัฒนาท่าเรือรวมทั้งประเทศเวียดนามเองก็กำลังพัฒนาเพื่อให้เป็นฮับทางการเดินเรือของภูมิภาคนี้อยู่ ดังนั้นประเทศไทยเราจึงล่าช้าไม่ได้เพราะหากล่าช้าไปกว่านี้จะทำให้เสียโอกาสไป แต่อย่งไรก็ตามเราโชคยังดีที่ประเทศจีนเห็นถึงศักยภาพของไทยและเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟไปยังท่าเรือแหลมฉบัง หากเราสามารถพัฒนาได้ก็จะเพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างงานให้คนไทย และเกิดประโยชน์ด้านเศรษฐกิจต่อชาตในภาพรวมได้เป็นอย่างดี

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.