กลุ่มต้านสำรวจน้ำโขงยกพวกถือป้ายกลางเกาะชี้จะทำหนังสือถึงรัฐบาลจีน

23
3 (1)
วัน28 เม.ย.60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเครือข่ายธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา (กลุ่มรักษ์เชียงของ) นำโดยนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ พร้อมด้วยเครือข่ายกลุ่มต่างๆ เช่น กลุ่มเยาวชน อ.เชียงของ กลุ่ม North องศาเหนือ ฯลฯ ประมาณ 30 คน ถือป้ายคัดค้านการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงและล่องเรือเล็กจากพื้นที่ ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ทวนกระแสแม่น้ำโขงขึ้นไปยังเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขงที่เรียกกันว่า “คอนผีหลง” เขตแดนระหว่างบ้านเมืองกาญจน์ ต.ริมโขง อ.เชียงของ และผาพระ เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว โดยจุดดังกล่าวมีเกาะแก่งที่เรียกตามภาษาถิ่นเรียงรายกันอยู่หลายจุด เช่น ผากันตุง ผาเยีย ผาถาก ผาหัวขโตน ฯลฯ โดยฝั่ง สปป.ลาว เป็นผาพระซึ่งมีจุดชมวิวอยู่ในฝั่งไทย
โดยเมื่อไปถึงบริเวณคอนผีหลงใกล้กับผาพระทางกลุ่มดังกล่าวได้ไปแสดงพลังและสัญลักษณ์คัดค้านด้วยการนำเรือเทียบเกาะแก่งผาเยียซึ่งเป็นเกาะหินขนาดใหญ่และได้ถือป้ายคัดค้านกลางแม่น้ำโขงโดยมีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนทั่วไปและสื่อสาธารณะด้วยป้ายข้อความที่เป็นทั้งภาษาไทย ภาษาจีนและภาษาอังกฤษที่มีเนื้อหาให้หยุดการระเบิดเกาะแก่ง รวมทั้งยังมีการติดตั้งป้ายขนาดใหญ่ที่มีข้อความและเนื้อหาในลักษณะเดียวกันเอาไว้อยู่ก่อนแล้วตรงจุดชมวิวผาพระซึ่งสามารถเห็นได้อย่างชัดเจน
นายนิวัฒน์ กล่าวว่าจุดที่ชาวบ้านไปถือป้ายบนเกาะหินนี้เรียกว่าผาเยียใกล้กันคือผากันตุงตั้งอยู่ตรงกันข้ามผาพระในฝั่ง สปป.ลาว ซึ่งบริเวณนี้หากน้ำขึ้นจะมีสภาพเป็นโพลงใต้น้ำของปลาเป็นเสมือนบ้านและแหล่งอาหาร ดังนั้นหากเอาเกาะแก่งนี้ออกก็เหมือนฆ่าปลาจะการจะกลับมาฟื้นฟูก็ทำไม่ได้อีกแล้ว ทั้งนี้ทราบมาว่าบริเวณผาเยียจะมีการเจาะหินด้านล่างเกาะจำนวน 5 จุดและด้านบนอีก 30 จุด ซึ่งจากลักษณะพื้นที่เชื่อว่าทั้งเกาะผาเยียและผาตุงรวมถึงใกล้เคียงจะต้องถูกเอาออกแน่นอน
“จุดนี้มีความลึกของแม่น้ำโขงบริเวณประมาณ 40 เมตร จึงมีความซับซ้อนด้วยธรรมชาติของเกาะแก่งเหมือนคอนโดของปลา ดังนั้นเราจึงมาจัดกิจกรรมที่นี่เพื่อยืนยันว่าถ้าเรือขุดเจาะมาถึงจุดนี้ก็จะมาแสดงพลังอีกครั้ง โดยจะมีพี่น้องเครือข่ายมาแสดงออกกันมากกว่านี้เพื่อให้เห็นว่าเราไม่เห็นด้วย ส่วนเขาจะสำรวจก็ปล่อยไปเราจะไม่ได้ทำอะไรแต่จะแสดงออกเพื่อให้เขารู้ ควบคู่ไปกับการทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆ และตั้งเป้าจะเขียนจดหมายไปถึงรัฐบาลจีนเพราะเขาอาจจะยังไม่เข้าใจ จึงจะทำให้เข้าใจตรงว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรและย่อมมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน” นายนิวัฒน์ กล่าว
ด้านนายจีระศักดิ์ อินทะยศ แกนนำกลุ่มรักษ์เชียงของอีกคน กล่าวว่าบริเวณแก่งคอนผีหลงมีระยะทางประมาณ 7-8 กิโลเมตร และการพัฒนาระยะแรกจะอยู่ในเขตประมาณ 1.6 กิโลเมตร แต่ในระยะต่อไปก็จะเป็นเหมือนลำคลองเพื่อการเดินเรือสินค้าได้สะดวกซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าคงจะไม่เหลือเกาะแก่งบริเวณนี้อีกเลย ทั้งนี้เมื่อมองจากภายนอกที่ชัดเจนคือเป็นเกาะแก่งบริเวณนี้เป็นเหมือนฝายกั้นน้ำและมีระบบนิเวศน์ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต มีระบบการเติมอ๊อกซิเจนให้น้ำ เมื่อน้ำหลากก็ช่วยชะลอน้ำ ดังั้นเราจึงไม่เห็นด้วยกับการสำรวจที่จะนำไปสู่การระเบิดเกาะแก่งดังกล่าว
รายงานข่าวแจ้งอีกว่าสำหรับกิจกรรมคัดค้านดังกล่าวมีขึ้นขึ้นหลังจากที่ได้มีบริษัท CCCC Second Habor Consultant จำกัด จากประเทศจีน นำเรือเจียฟู่ 3 และเรือเฉินตง 9 ทำการสำรวจแม่น้ำโขงตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน เรื่อยมาตั้งแต่วันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา กำหนดระยะเวลา 55 วันเพื่อให้สุดเขตแดนไทย-สปป.ลาว ปัจจุบันได้ดำเนินการในเขต อ.เชียงแสน แล้วเสร็จแล้วโดยเรือลำแรกได้ขุดเจาะหินและเก็บตัวอย่างหินไปศึกษาแล้วหลายจุด ส่วนลำที่ 2 วัดระดับน้ำและติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำมาตลอดแนว กระทั่งเรือเฉินตง 9 ได้เริ่มทำการสำรวจเขตบ้านดอนที่ ต.ริมโขง ซึ่งอยู่ในแนวเกาะแก่งคอนผีหลงซทำให้กลุ่มองค์กรเอกชนหรือเอ็นจีโอและเครือข่ายภาคประชาชนพากันแสดงพลังดังกล่าว อย่างไรก็ตามล่าสุดเรือสำรวจของจีนทั้ง 2 ลำยังไม่ไปได้ไปวัดระดับน้ำและขุดเจาะชั้นดินและหินบริเวณดังกล่าว
ด้านสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จ.เชียงราย แจ้งว่าวันนี้เรือเจียฟู่ 3 มีกำหนดปฏิบัติงานตรงเกาะมะโนตรงกันข้ามกับบ้านท่าขันทอง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน โดยเรือลำนี้มีหน้าที่ขุดเจาะชั้นดินและหินดังกล่าวโดยยังคงมีกำหนดอยู่ที่บริเวณใกล้เคียงกันนี้อีกระยะหนึ่ง แต่สำหรับเรือเฉินตง 9 มีกำหนดเคยไปสำรวจทางชลศาสตร์ที่เกาะผาเยียที่ชาวบ้านชุมนุมกันดังกล่าวไปจนถึงแก่งไก่ซึ่งเข้าสู่เขต ต.เวียง อ.เชียงของ มาแล้วโดยใช้เรือเล็กร่วมด้วย และในวันที่ชาวบ้านชุมนุมถือป้ายเรือถือป้ายกันนี้เรือลำนี้ได้กลับขึ้นมาบริเวณเหนือเกาะผาเยียขึ้นไปยังเกาะดอนที่ บ้านดอนที่ ต.ริมโขง ทำให้ไม่เผชิญหน้ากันแต่อย่างใด.

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.