ชาวผาหมีหวั่นหากผลักดันเขตอุทยานถ้ำหลวงอาจกระทบที่ทำกิน ข่าว By admin On ก.ค. 22, 2018 17 Share วันที่ 22 ก.ค.61 หลังจากที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ออกมาเปิดเผยว่าจะมีการผลักดันให้วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติ หลังปฏิบัติการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาดามีจำนวน 13 คน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างปิดถ้ำเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ และรอให้น้ำลดเพื่อเคลียร์อุปกรณ์ที่ค้างอยู่ภายในถ้ำออก ในปัจจุบันประชาชนในพื้นที่ยังไม่ทราบเกี่ยวกับการยกระดับเป็นอุทยานดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านมีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยข้อมูลจากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) เมื่อปี 2529 พบว่าวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีเนื้อที่ 5,448.81 ไร่ โดยเป็น 1 ใน 36 เขตวนอุทยานที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) และถือเป็นเขตที่เป็นป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยนางนอน ได้รับการดูแลโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงชันหลายลูกติดต่อกัน ติดต่อกับเทือกเขา ชายแดนไทย-เมียนมา ปัจจุบันมีถ้ำหลายแห่งอยู่ในเขตวนอุทยานฯ น.ส.ศรินรัตน์ พฤกษาพันธ์ทวี อายุ 43 ปี ลูกสาวของนายมนตรี พฤกษาพันธ์ทวี หรือพ่อหลวงซาเจ๊ะ ปัจุบันประกอบกิจการร้านกาแฟ “ภูฟ้าซาเจ๊ะ” ตั้งอยู่หมู่บ้านผาหมี หมู่ 6 ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องการจะประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติดังกล่าว จึงอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับข้อดีและข้อเสียเพื่อจะได้นำมาพิจารณาหรือปรับตัวกันต่อไปรวมทั้งไม่ทราบขอบเขตของพื้นที่ที่จะจัดตั้งด้วยเนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในการรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน จึงไม่แน่ใจว่าหากเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจะครอบคลุมหรือขยายไปมากน้อยเพียงใด กรณีมีชาวบ้านอยู่ในเขตที่จะประกาศนั้นเกรงว่าจะได้รับผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัยและทำกินเพราะบางเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติที่ชาวบ้านบางส่วนเช่าอาศัยและทำกินอยู่จึงไม่มีเอกสารสิทธิ์ พวกเขาก็อยู่มานานตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนการประกาศเป็นเขตวนอุทยานเมื่อปี 2529 ดังนั้นจึงอยากให้เจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อมูลหรือรายละเอียดก่อนจะดำเนินการใดๆ ด้วยเพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจหรือปรับตัวได้ทัน ด้านนายอนุภาส ปฏิเสน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย เขต อ.แม่สาย กล่าวว่าพื้นที่ดังกล่าวประกาศเป็นเขตวนอุทยานมานานมากกว่า 30 กว่าปีแล้วซึ่งจากการสอบถามข้อมูลไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทราบว่าด้วยเนื้อที่จำนวนมากดังกล่าวเจ้าหน้าที่ได้รับงบประมาณปีละเพียงประมาณ 450,000 บาทซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดพื้นที่ ทำให้ที่ผ่านมาการพัฒนาเป็นไปด้วยความยากลำบากหรือแทบเดินหน้าไม่ได้เลย เมื่อท้องถิ่นทุกระดับทั้ง อบจ.และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อยากจะเข้าไปช่วยพัฒนาก็ทำไม่ได้เต็มที่เพราะต้องนำเสนอเรื่อผ่านกรมอุทยานแห่งชาติก่อน ทำให้พื้นที่มีสภาพที่ไม่ได้รับการพัฒนาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นจึงเห็นว่าแนวทางการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีเพราะจะได้มีการจัดสรรงบประมาณเข้าไปพัฒนาฟื้นฟูสภาพพื้นที่ได้มากขึ้นและเขตดังกล่าวยังสามารถจัดเก็บรายได้เองเพื่อนำมาบริหารจัดการภายในอีกด้วย โดยเฉพาะในอนาคตเชื่อว่าหากมีการเปิดให้เข้าชมถ้ำได้อีกครั้งจะมีผู้คนจากทั่วโลกไปเยือนเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่อยู่รายรอบก็สามารถจำหน่ายสินค้าสร้างรายได้ อย่างไรก็ตามก็ถือเป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งเท่านั้นโดยอาจมีวิธีการอื่นๆ ที่เหมาะสมกว่าหากว่าการประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติมีผลกระทบเกินไป โดยหากมีวิธีการที่จะพัฒนาพื้นที่ให้ดีมากกว่าการเป็นวนอุทานก็ควรนำมาพิจารณาดำเนินการได้ต่อไป. แสดงความคิดเห็น 17 Share FacebookTwitterGoogle+ReddItWhatsAppPinterestEmail
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.