เชียงรายนำร่องการแพทย์ฉุกเฉินภัยพิบัตินานาชาติรับเออีซี

7
IMG_1076
 วันที่ 23 มิ.ย.58 ดร.พิจิตร รัตตกุล คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินและประธานอนุกรรมการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะสาธารณภัย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) นายแพทย์สุรินทร์ สุมนาพันธุ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดประชุมวิชาการทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัตินานาชาติ หรือ INTERNATIONAL DISASTER MEDICAL RALLY AND CONFERENCE ในหัวข้อ TOGETHER WE WILL SURVIVE ระหว่างวันที่ 22-25 มิถุนายน 2558 ที่โรงแรมเวียงอินน์ อ.เมือง จ.เชียงราย  โดยมี นายพงษ์ศักดิ์ วังเสมอ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ บุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข ทั้งในและต่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน เข้าร่วมกว่า 350 คน โดยภายในงานยังมีการจัดแสดงเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และชุดที่ใช้ในการกู้ชีพ และกู้ภัย ในด้านต่างๆทั้งดับเพลิง ชุดกันสารเคมี กู้ภัยทางน้ำ และอุปกรณ์การโรยตัวเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกจากที่สูงและต่ำ
ดร.พิจิตร รัตตกุล คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินและประธานอนุกรรมการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในภาวะสาธารณภัย กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการเตรียมพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยมีประเทศไทย ร่วมกับ เวียตนาม เป็นตัวแทนในกลุ่มประเทศในอาเซียน ซึ่งได้เลือกพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เป็นพื้นที่นำร่อง ในการเตรียมความพร้อมทางด้านการแพทย์ ฉุกเฉินในสถานการณ์ภัยพิบัติในระดับอาเซียน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ฉุกเฉินมีแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีมาตรฐานเดียวกันในทุกภูมิภาค ซึ่งที่ ผ่านมาในภูมิภาคอาเซียนเกิดภัยพิบัติขึ้นหลายครั้ง และมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆดังนั้นหากมีการร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศอื่นๆ จะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
ด้าน ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นบ่อยในจังหวัดเชียงราย และในเขตพื้นที่ภาคเหนือคือแผ่นดินไหว  เนื่องจากมีรอยเลื่อนที่ยังมีพลังอยู่หลายแห่ง จากประสบการณ์เหตุแผ่นดินไหวที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการกู้ชีพกู้ภัยยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควร โดยยังมีความฉุกละหุกและโกลาหล ทั้งนี้เชียงรายเองยังมีภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆที่มักเกิดขึ้นเป็นประจำได้แก่ ภัยจากน้ำป่าไหลหลาก ไฟป่า พายุพัดถล่ม ซึ่งการประชุมวิชาการครั้งนี้ จะทำให้บุคลากรทางด้านการแพทย์ สาธารณสุข ได้รับองค์ความรู้ เพื่อความพร้อมในการตอบโต้สาธารณภัย มีระบบการบัญชาการเหตุการณ์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นรูปธรรมตลอดเวลา ทุกสถานการณ์

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.