วันที่ 6 ส.ค.58 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ บ้านสบรวก ม.1 ต.เวียง อ.เชียงแสน จนไปถึงบ้านป่าสักหาเวียง ม.9 ต.เวียง อ.เชียงแสน ได้นำเรือหาปลาออกไปดักเอาท่อนไม้ที่ลอยมาตามแม่น้ำโขงเพื่อนำมาขาย โดยชาวบ้านได้จับรวมกลุ่มกันจับจองพื้นที่ริมฝั่งแม่นำโขงเพื่อเป็นที่เก็บท่อนไม้ โดยชาวบ้านได้นำเรือหางยาวที่ติดเครื่องยนต์ซึ่งตามปกติใช้หาปลาออกไปดักเอาท่อนไม้ที่ลอยมากลางแม่น้ำ แล้วใช้เชือกมัดและทำการลากมารวมกันไว้ที่ริมฝั่ง ซึ่งระดับน้ำในแม่น้ำโขงในที่สถานีเรือเชียงแสนของหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย วัดได้ประมาณ 6.70 เมตร และที่ว่าการ อ.เชียงแสนซึ่งห่างจากบ้านป่าสักหางเวียงเล็กน้อยลึก 7.35 เมตร
การหาไม้ในแม่น้ำโขงของชาวบ้าน อ.เชียงแสน ทำติดต่อกันมานานในฤดูน้ำหลากซึ่งกระแสน้ำจะพัดเอาท่อนไม้มาจากประเทศเมียนมา สปป.ลาว และจีนตอนใต้ ไหลมากับแม่น้ำโขงซึ่งไม้เหล่านี้ไม่มีเจ้าของและไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้อย่างชัดเจน ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์และจำหน่ายได้ดังกล่าว สำหรับการนำเรือออกไปลากท่อนไม้มีความเสี่ยง และต้องอาศัยความชำนาญ เนื่องจากกระแสน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากเชี่ยว มีทั้งท่อนไม้ วัชพืช เศษไม้ ลอยมาอย่างหนาแน่นซึ่งอาจชนกับเรือได้
นายคำ อุตตาลี อายุ 63 ปีชาวบ้านป่าสักหางเวียง กล่าวว่าตามปกติชาวบ้านจะมีอาชีพการเกษตร และทำากรประมง เมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำจะพัดเอาท่อนไม้จำนวนมากมากับกระแสน้ำ เมื่อระดับน้ำขึ้นสูงจึงได้พัดพาเอาไม้ทั้งหมดไหลเข้าสู่เขตประเทศไทยโดยไม้ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทไม้กระยาเลย ไม้แดง ไม้เนื้ออ่อนที่ใช้ทำฟืน ซึ่งคนที่ชำนาญก็จะรู้ว่าไม้ที่มีคุณภาพจะมีลักษณะหนักและจมน้ำลงไปเล็กน้อยเหลือโผล่ขึ้นผิวน้ำไม่มากนักจึงนำเรือเข้าใกล้และลากเข้าฝั่ง แต่ไม้ที่ลอยอยู่ทั่วไปก็มีอยู่จำนวนมากแต่ไม่ค่อยมีค่า
“ไม้ที่ได้ส่วนใหญ่จะนำมาเลื่อยเพื่อทำเป็นท่อนฟืนขาย วางเป็นกอง กองหนึ่่งกว้างประมาณ 1 เมตร ยาว 1 เมตร สูง 1 เมตร ขายกองละ 250 บาท ส่วนไม้ที่มีค่าซึ่งเป็นไม้เนื้อแข็ง ท่อนซุงหรือไม้แปรรูปก็จะขายท่อนละประมาณ 700-800 บาท ซึ่งเป็นอาชีพเสริมเพราะปีหนึ่งจะทำกันได้ไม่กี่ครั้งครั้งละ 2-3 วันหากว่าระดับน้ำลดลงก็กลับไปทำอาชีพเดิม” นายคำ กล่าว
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.