การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวนั้น มิใช่เพียงแค่การมีปริมาณต้นไม้เยอะ มีภูมิทัศน์เป็นป่าเขารายล้อมเท่านั้น หากยังมีองค์ประกอบด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และธรรมชาติ ที่ต้องใส่ใจหลากหลายด้าน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) มุ่งมั่นพัฒนาการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมภายในมหาวิทยาลัย และชุมชนโดยรอบมาโดยตลอด อันเป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดกิจกรรม “ปั่นจักรยานแรลลี่สีเขียว” (MFU Green Rally) ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยใช้เส้นทางภายในมหาวิทยาลัยในการแข่งขันปั่นจักรยานไปยังฐานต่างๆ และได้ชักชวนครอบครัวนักปั่น มฟล. ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ บุคลลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า และสมาชิกชุมชนรอบข้างมหาวิทยาลัย รวมทั้งหมด 25 ทีม ทีมละ 3 คน มาทำกิจกรรมปั่นจักรยานแรลลี่สีเขียวร่วมกัน เพื่อเรียนรู้การจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมในรอบด้าน เช่น การคมนาคมปลอดมลพิษ การจัดเก็บและคัดแยกขยะ การใช้พลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด การบำบัดน้ำเสีย เป็นต้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืน ให้สมกับเป็น “มหาวิทยาลัยในสวน” (University in the Park)
ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันแรลลี่ทราบถึงการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียว โดยตลอด 17 ปีที่ผ่านมา มฟล. มีความมุ่งมั่นในการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้เป็น University in the Park ซึ่งได้น้อมนำเอาพระราชปณิธานของสมเด็จย่า ในการ “ปลูกป่า…สร้างคน” มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านต่างๆ รวมทั้งการฟื้นฟูธรรมชาติภายในมหาวิทยาลัย ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีต้นไม้อุดมสมบูรณ์ และการดูแลรักษาสภาพแวดล้อมในด้านต่างๆ
“ผู้เข้าร่วมแข่งขันมีทั้งหมด 25 ทีม ทีมละ 3 คน ประกอบไปด้วยบุคลากร นักศึกษา ศิษย์เก่า ตลอดจนสมาชิกจากชุมชนรอบข้างมหาวิทยาลัย ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้เกี่ยวกบการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียวใน 6 ฐานกิจกรรม ได้แก่ ฐานกิจกรรมพลังงานหมุนเวียน ผู้เข้าแข่งขันต้องค้นหาจุดที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลายจุด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และพลังงานทางเลือกอื่นๆ, ฐานพันธุ์ไม้ภายในหมาวิทยาลัย ซึ่งจากการสำรวจพบว่ามีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มมากขึ้น ตลอด 17 ปีที่ผ่านมาในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ในพื้นที่กว่า 5 พันไร่ของเรามีพันธุ์ไม้กว่า 180 ชนิด โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันจะได้รับโจทย์ในการค้นหาต้นไม้ในเวลาที่กำหนด ภายในบริเวณสวนสุขภาพ,
“ฐานความหลากหลายทางวัฒนธรรม เนื่องจาก มฟล. ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการเรียนการสอน ทำให้นักศึกษานานาชาติสามารถเข้ามาเรียนที่นี่ได้ ตลอดจนนักศึกษาไทยมีความคุ้นเคยกับการติดต่อสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติ มีความพร้อมในการทำงานในสังคมต่างวัฒนธรรม ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักศึกษานานาชาติ, ฐานการบำบัดน้ำเสีย เนื่องด้วยการดูแลรักษาและจัดหาแหล่งน้ำจัดเพื่อใช้บริโภคอุปโภคภายในมหาวิทยาลัย เป็นอีกภารกิจสำคัญโดยมีการสร้างแหล่งเก็บน้ำภายในมหาวิทยาลัยที่เพียงพอต่อการใช้งานตลอดทั้งปี และมีเครื่องบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐานก่อนปล่อยไปสู่แหล่งน้ำต่างๆ ในฐานนี้ผู้เข้าแข่งขันได้ทำการทดลองสร้างอุปกรณ์กรองน้ำเสียอย่างง่าย, ฐานขนส่งมวลชน โดย มฟล. ได้มีการจัดรถไฟฟ้าในการรับส่งนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัย ในฐานนี้ผู้แข่งขันจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการคมนาคมที่ปลอดมลพิษ, ฐานความสะอาดภายในมหาวิทยาลัย เมื่อเสร็จสิ้นจากทุกฐาน ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะได้รับโจทย์ในการจัดเก็บขยะที่พบเจอระหว่างเส้นทางปั่นจักรยานแรลลี่ และนำกลับมายังจุดรวมพล เพื่อทำการคัดแยกและเรียนรู้การกำจัดขยะแต่ละชนิดอย่างถูกวิธี”ดร.ปเนต กล่าว
โดยตอนท้ายกิจกรรม รศ.ดร.ชยาพร วัฒนสิริ รองอธิการบดี ได้ให้เกียรติมอบรางวัลให้กับผู้ที่ชนะเลิศการแข่งขัน และร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในการขับเคลื่อน มฟล. สู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวอย่างยั่งยืนกับผู้เข้าร่วมการแข่งขัน รวมถึงชื่นชมการทำกิจกรรมปั่นจักรยานเพื่อสิ่งแวดล้อมในครั้งนี้ด้วย
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.