ปภ.เขต 6. ระดมเจ้าหน้าที่-เครืองสูบน้ำและเครื่องจักรกล รับมือกับพายุวิภาที่จะส่งผลกระทบกับภาคอีสานตอนบน ตั้งแต่คืนวันนี้ เป็นต้นไป
เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 21 ก.ค.2568 นายศิริศักดิ์ สกุลโสรัจจะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น เรียกประชุมด่วนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมรับมือภายุโซนร้อน “วิภา” หลังเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งที่จีนตอนใต้แล้วซึ่งจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ได้รับผลกระทบจากพายุดังกล่าว
นายศิริศักดิ์ สกุลโสรัจจะ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 6 ขอนแก่น กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมของ ศูนย์ ปภ.เขต6 เริ่มตั้งแต่ฤดูฝนตามประกาศของกรมอุตุฯ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมเครื่องจักร เครื่องสูบน้ำ 14 นิ้ว ไปติดตั้งในพื้นที่ของจังหวัดที่รับผิดชอบทั้ง 4 จังหวัด โดยขณะนี้ได้ ติดตั้งแล้วซึ่ง ขอนแก่นติดตั้งไปทั้งหมด 4 จุด, กาฬสินธุ์ 3 จุด ,ร้อยเอ็ด 3 จุด และมหาสารคาม 4 จุด รวมถึงเรือท้องแบนมีทั้งหมด 35 ลำ ได้จัดสรรให้ขอนแก่น 15 ลำ ส่วนอีก 3 จังหวัด จังหวัดละ 6 ลำ ทางศูนย์ได้อบรมเจ้าหน้าที่ อปท.ในพื้นที่รับผิดชอบทั้งหมดจำนวน 100 คน ให้เรียนรู้การใช้เรือและสอบใบขับขี่กรมเจ้าท่าเรียบร้อยแล้ว ส่วนอุปกรณ์อื่นๆไม่ว่าจะเป็นรถลำเลียงผู้ประสบภัย รถประกอบอาหาร ซึ่งได้นำไปจอดไว้ทุกจังหวัดที่รับผิดชอบแล้ว เพราะเมื่อเกิดสถานการณ์สามารถดำเนินการได้ทันทีแต่ถ้าเครื่องจักรที่จัดสรรไปไม่เพียงพอสามารถร้องของได้เพิ่มศูนย์มีความพร้อมทันทีที่เกิดสถานการณ์และเตรียมพร้อมกำลังพลไว้สนับสนุนเรียบร้อยพร้อม 24 ชม.
นายศิริศักดิ์ กล่าวต่อว่าสำหรับพื้นที่จะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดโรงเรียนคนตาบอดขอนแก่น โดยปีนี้ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดหากมีสถานการณ์ต้องอพยพสามารถที่จะนำรถขนย้ายผู้ประสบภัยซึ่งมีแบบลิฟต์เลื่อนไม่ต้องเดินขึ้นบันได จะใช้รถแบบลิฟต์เลื่อนจำนวน 2 คัน พร้อมจะปฏิบัติงานได้ทันทีรวมทั้งบึงหนองโคตรเตรียมเครื่องสูบน้ำ 3 กม. ไว้ 3 เครื่อง ซึ่งอาจจะกระทบการสัญจรบนถนนบ้างแต่ก็สามารถสัญจรไปมาได้มีหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมปฏิบัติงาน 24 ชม.
ขณะที่นางรุ่งรวี อ้นคต ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน กล่าวว่า หลังจากที่พายุฤดูโซนร้อนวิภา ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีแรงลมศูนย์กลางพายุ 86 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันตกค่อนทางใต้เล็กน้อย ด้วยความเร็วลม 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หลังจากนั้นจะขึ้นฝั่งประเทศเวียตนามและอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชั่น จะเคลื่อนตัวตามแนวร่องมรสุม ทางตอนบนของประเทศลาว และภาคเหนือของไทย
“ผลกระทบจากพายุดังกล่าว ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน จะมีฝนตกหนักกระจายและฝนตกหนักเป็นบางพื้นที่ บางพื้นที่จะมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 100 มิลลิเมตร โดยเฉพาะในจังหวัด นครพนม, บึงกาฬ, เลย, สกลนคร, อุดรธานี ชัยภูมิ, หนองคาย และทางตอนบนของจังหวัดขอนแก่น จึงขอให้ประชาชนได้ติดตามข่าวพยาการณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับพายุดังกล่าวด้วย”
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.