ศอ.บต. ชื่นชม ‘บาบอ’ ผนึกพลังศาสนา-อาชีพ ‘ผึ้งชันโรง’ สู่ความหวังเด็กกำพร้า

283

ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางบริบทแห่งความท้าทาย มีสถาบันอันเป็นที่พึ่งทางจิตใจและวิชาความรู้ นั่นคือ ‘ปอเนาะ’ ศูนย์รวมศรัทธาและแหล่งบ่มเพาะเยาวชน ที่วันนี้กำลังกลายเป็นปราการสำคัญในการรับมือกับภัยเงียบที่คุกคามสังคม นั่นคือ ยาเสพติด เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ “120 วัน วาระพืชกระท่อม” ของรัฐบาล และสานต่อนโยบายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. ที่มุ่งสร้างความเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ล่าสุด นายธีรวิทย์ เธียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. พร้อมด้วย นายอิบรอเหม เบ็ญนา นักจัดการงานทั่วไป ชำนาญการพิเศษ ศอ.บต. ได้ลงพื้นที่ สถาบันศึกษาปอเนาะมูญัมมะฮ์ อัลซิบยานุชซัรอียะห์ หรือ ‘ซีเซะใน’ ในหมู่ที่ 5 ตำบลบาโร๊ะ อำเภอยะหา จังหวัดยะลา เพื่อเยี่ยมชมโครงการสำคัญที่ผสานการป้องกันยาเสพติดกับการสร้างอาชีพอย่างลงตัว นั่นคือการส่งเสริมอาชีพ “ผึ้งชันโรง”

เมื่อมิติศาสนา คือหัวใจแก้ปัญหายาเสพติด การเยี่ยมชมครั้งนี้ ทำให้ ศอ.บต. ได้ประจักษ์ถึงพลังแห่งการขับเคลื่อนจาก ‘รากหญ้า’ โดยเฉพาะจากผู้นำทางศาสนาอย่าง นายอับดุลเลาะ สุหลง เจ้าของสถาบันปอเนาะ หรือ ‘บาบอ’

นายธีรวิทย์ เธียรฆโรจน์ (ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต.): กล่าวชื่นชมว่า “ถ้ามีคนอย่างบาบอ ที่ใช้มิติของศาสนาแก้ไขปัญหาเรื่องของยาเสพติด จริงๆ บาบอทำมาก่อนแล้ว รัฐไม่ต้องบอกเลย นี่คือความตระหนักและเป็นคุณค่าของศาสนา เชื่อว่าสภาพปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเบาบางลง เรื่องยาเสพติด เรื่องความมั่นคงเราก็จะแก้ไขปัญหาได้ไม่ยากแล้ว”

นายธีรวิทย์ย้ำว่า แม้ภาครัฐจะพยายามช่วยเหลืออย่างเต็มที่ แต่ก็มีข้อจำกัด “แต่ทางบาบอ ทางภาคประชาสังคม กลุ่มองค์กรภาคเอกชน ที่มาร่วมพลังในพื้นที่ ตรงนี้แหละคือพลังสำคัญ ที่จะขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติด”

ในการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายอิบรอเหม เบ็ญนา นักจัดการงานทั่วไป ชำนาญการพิเศษ ศอ.บต. ได้แบ่งปันเรื่องราวชีวิตของตนเอง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนด้วย
“ผมเป็นเด็กที่ไม่ได้มีพ่อแม่อยู่ด้วยกัน มีเพื่อนตั้งแต่เล่นยาเสพติด จนถึงเพื่อนที่เรียนหนังสือ แต่เราเลือกที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะไม่อยากให้พ่อแม่ผิดหวัง จนเรียนจบปริญญาตรีและมีงานทำ อยากให้น้องๆ ได้เรียน ทั้งวิชาศาสนาและวิชาสามัญ เพื่ออนาคตของตนเอง”

นายอับดุลเลาะ สุหลง (เจ้าของสถาบันปอเนาะฯ) กล่าวเสริมว่า “ปอเนาะได้เน้นหนักอย่างมากในเรื่องของยาเสพติด เพราะหากคนไหนที่ติดยาเสพติดจะละเลยศาสนา จะละเลยทุกด้าน จะเกิดปัญหาอื่นขึ้น ในทางรัฐบาลยืนยันที่จะไม่ให้มียาเสพติดในสังคม ทางศาสนาเองก็ยืนยันชัดเจนว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ดี เป็นเรื่องต้องห้าม (ฮารอม)”
ปอเนาะซีเซะใน: สร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ ‘บุหรี่’ สู่ ‘กระท่อม’ บาบออับดุลเลาะ ได้เผยถึงแนวทางการสร้างภูมิคุ้มกันในปอเนาะ โดยเริ่มต้นตั้งแต่สิ่งเล็กๆ อย่างบุหรี่ “เด็กคนไหนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ก็ห้ามไปเลย ส่วนคนที่สูบมาแล้ว ก็ได้บอกตลอดว่า ถ้าเลิกได้ก็ขอให้เลิก ถ้าจะสูบอื่นก็ให้ไปสูบไกลๆ ห้ามสูบใกล้คนที่ไม่สูบบุหรี่ จะทำให้เสื่อมเสีย เพราะเชื่อว่าบุหรี่คือปัจจัยแรก ที่จะนำไปสู่ยาเสพติด…ส่วนของกระท่อมนั้น จะเป็นปัญหาใหญ่กว่านั้น จึงป้องกันเด็กตั้งแต่ไม่ให้สูบบุหรี่”

นอกจากวิชาการและศาสนา ปอเนาะยังส่งเสริมอาชีพ “ผึ้งชันโรง” เพื่อให้เด็กกำพร้ามีรายได้จุนเจือชีวิต แต่ยังทำได้ไม่เยอะ นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของพลังชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่ง ศอ.บต. ได้เห็นถึงความสำคัญในการขับเคลื่อนงานเฝ้าระวังและป้องกันยาเสพติดตลอดจนการส่งเสริมอาชีพ

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.