วันที่ 11 พ.ค.59 ได้เกิดไฟไหม้ผืนป่าพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่ปืมติดต่อกับป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย เขตพื้นที่ ต.ท่าสาย อ.เมือง จ.เชียงราย โดยไฟได้โหมลุกไหม้จากพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้าไปจับจองทำไร่สวนบริเวณเชิงเขา ม.10 ต.ท่าสาย ก่อนจะลุกลามขึ้นสู่ภูเขาในเขตอุทยานและป่าสงวนดังกล่าวโดยเปลวไฟลุกลามอย่างรวดเร็วผ่านไร่สวนของชาวบ้านหลายรายก่อนเข้าสู่เขตป่าที่มีต้นไม้และหญ้าแห้งที่เป็นเชื้อไฟอย่างดี ส่งผลให้เกิดการลุกไหม้อย่างหนักก่อนขยายวงกว้างออกไปจนเกิดกลุ่มควันคละคลุ้งอย่างเห็นได้ชัดในเขต อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งหลังเกิดเหตุนายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 นายชวนากร พรมรังฤทธิ์ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ปืม นายมานิตย์ ดูคำ ผู้ใหญ่บ้าน ม.10 ต.ท่าสาย ได้ระดมกำลังเจ้าที่อุทยาน รถดับเพลิงเทศบาล ต.ท่าสาย และชาวบ้านพากันเข้าไปดับไฟอย่างเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่าการดับไฟเป็นไปด้วยความยากลำบากเนื่องจากสภาพอากาศที่แห้งและภูมิประเทศที่สูงชัน ทำให้เจ้าหน้าที่ได้ทำแนวกันไฟในบริเวณรอบข้างและให้ไฟเผาไหม้จนไปถึงบริเวณแนวกันไฟเพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปยังป่าข้างเคียงและยังมีบ้านเรือนของประชาชนรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่อยู่เชิงเขาเป็นจำนวนมากไม่ให้ได้รับผลกระทบท่ามกลางความตื่นตกใจของผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกระนั้นการดับเพลิงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยผืนป่าถูกไฟไหม้ประมาณ 50 ไร่ นอกจากนี้ไฟยังลามเข้าไปเผาพื้นที่ สปก.ของเอกชนรายหนึ่งซึ่งปลูกต้นไม้กฤษณาเอาไว้เป็นบริเวณกว้างด้วย
ขณะเดียวกันในที่เกิดเหตุทางเจ้าหน้าที่อุทยานพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้าน ม.10 ได้ตรวจสอบหาต้นเพลิงดังกล่าวและว่าผู้ก่อเหตุชื่อว่านายประสิทธิ์ น้อยแวงพิมพ์ อายุ 67 ปี บ้านเลขที่ 214 ม.10 ต.ท่าสาย ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยอาการตื่นตกใจพร้อมเครื่องตัดหญ้าเครื่องยนต์เบนซิน 1 เครื่อง สภาพถูกไฟไหม้จนเสียหาย โดยนายประสิทธิ์ให้การว่าก่อนเกิดเหตุได้เผาไร่ตรงเชิงเขาเพราะคิดว่าจะควบคุมไฟได้แต่ปรากฎว่าไฟได้โหมลุกไหม้หนักจนควบคุมไม่อยู่แม้แต่เครื่องตัดหญ้าก็ตนก็ถูกไฟไหม้จนถังน้ำมันระเบิดตนเองต้องวิ่งหลบหนี ส่วนสาเหตุเพราะรับจะเข้าไปปรับพื้นที่ให้เจ้าของไร่ชื่อนายยงยุทธ แก้วจันทรา โดยยังไม่ได้รับจ้างใดๆทางเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการสอบปากคำพร้อมแจ้งข้อกล่าวหาเบื้องต้นว่าเผาป่าในเขตอุทยานแห่งชาติตามมาตรา 16 พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ
นายนิพนธ์ กล่าวว่าในปัจจุบัน จ.เชียงราย มีประกาศให้ประชาชนที่มีความจำเป็นในการเผาได้ทำแนวกันไฟและขออนุญาตไปยังผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันเสียเพื่อเสนอขออนุญาตไปยังนายอำเภอเสียก่อน จากนั้นให้นายอำเภอจัดระเบียบการเผาวัชพืชเป็นรายตำบลเพื่อป้องกันการเกิดมลพิษจากหมอกควัน แต่ปรากฎว่ากรณีนี้ฝ่าฝืนจนทำให้เกิดความเสียหายดังกล่าวแต่ยังดีที่มีเจ้าหน้าที่อยู่่บริเวณดังกล่าวจึงควบคุมสถานการณ์เอาไว้ได้แต่ก็ต้องเฝ้าระวังตลอด เพราะสภาพอากาศที่แห้งในฤดูร้อนทำให้เสี่ยงต่อการลุกไหม้ได้ง่าย ส่วนการดำเนินคดีกับผู้เผานั้นมีความจำเป็นเพราะกฎหมายระบุเอาไว้ชัดเจนโดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะสอบสวนเพื่อขยายผลไปถึงผู้ว่าจ้างด้วยว่าเล็งเห็นผลต่อเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ ส่วนการกรณีผู้เสียหายข้างเคียงก็คงต้องฟ้องร้องกันตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป.
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.