ม.แม่ฟ้าหลวงผุดศูนย์การแพทย์ครบวงจร รองรับการขยายตัวของประชากรอาเซียน คาดเปิดบริการปี 62

27

Exterior Perspective 01

 

หลังจากที่มีการขยายผังเมืองขึ้นของจังหวัดเชียงรายแน่นอนว่าจะต้องมีประชากรเพิ่มขึ้นตาม ย่อมส่งผมให้มีความต้องการทางด้านการแพทย์และบริการทางด้านสุขภาพเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีโรงพยาบาลในเขต อ.เมือง 4 แห่ง โดยเป็นโรงพยาบาลของรัฐ 1 แห่งคือโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลเอกชน 2 แห่งคือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ศรีบุรินทร์ และโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค นอกจากนี้ยังมีศูนย์บริการทางการแพทย์ที่กำลังก่อสร้างขึ้นก็คือ ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นทั้งโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาล ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรในท้องถิ่น รวมถึงการเข้ามาใช้บริการสุขภาพของประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนการเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาจากประเทศสมาชิกอาเซียน ดังนั้นโรงพยาบาลเหล่านี้จึงต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับมวลชนจำนวนมากทั้งในปัจจุบันและอนาคต

 

ที่ผ่านมาการบริการทางการแพทย์ในจังหวัดเชียงรายยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งหลังจากที่เปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ก็มีผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยมากขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน เนื่องจากการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยได้รับความไว้วางใจจากประเทศเพื่อนบ้านในการรับการบริการทั้งมาตรฐาน และบริการ สำหรับศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่มุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางทางด้านการแพทย์อีกแห่งหนึ่งในภูมิภาค เพราะเป็นทั้งโรงพยาบาล ศูนย์ทันตกรรม โรงเรียนการแพทย์ และศูนย์วิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยมุ่งเน้นการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ ในระยะแรกนั้นอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงพยาบาลขนาด 400 เตียง โดยใช้เป็นสถานศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติของนักศึกษาแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พร้อมทั้งให้บริการผู้ป่วยทุกระดับ ทุกโรค และจะขยายเป็น 800 เตียงต่อไป

 

พลโท ศ.เกียรติคุณ นพ.นพดล วรอุไร คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า ศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงนี้ จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาและการวิจัยด้านการแพทย์ รวมทั้งสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพของภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศในอนุภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ภายใต้ยุทธศาสตร์การใช้การแพทย์และสาธารณสุขเป็นเครื่องมือในการยกระดับคุณภาพีชิต และสร้างความเป็นมิตรที่ยั่งยืนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล มีมูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท ซึ่งใช้ระยะดำเนินตั้งแต่ปี 2558 – 2561 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2562 ในพื้นที่ทั้งหมด 135 ไร่

 

“ศูนย์การแพทย์แห่งนี้ ถือเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาระบบการผลิตแพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ครั้งสำคัญของภาคเหนือตอนบน และของประเทศ จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ ทันตแพทย์ และพยาบาลในภาคเหนือ และของประเทศเป็นอย่างดี โดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการเรียนการสอนและการบริการที่สำคัญของชาติ และประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีพื้นที่รวมประมาณ 85,000 ตารางเมตร ในการก่อสร้างระยะแรกจะสามารถรองรับผู้ป่วยในจำนวน 400 เตียง ห้องผ่าตัดมาตรฐานสากล 20 ห้อง ห้องบริการการแพทย์ฉุกเฉินขนาดใหญ่ ห้องบริการตรวจโรคทั่วไปครบทุกสาขา ห้องบริการรังสีวินิจฉัย ห้องบริการประกอบอื่นๆ ที่จำเป็น และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน” คณบดีสำนักวิชาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าว

 

ด้านคุณดรุณี เลาหะวีร์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบ้านจัดสรร สินธานีกรุ๊ป กล่าวว่า การที่เกิดโรงพยาบาลขึ้นในจังหวัดเชียงรายก็จะเกิดการพัฒนาผังเมืองต่างๆ ตามมาซึ่งเป็นผลดีของชาวจังหวัดเชียงรายที่จะได้มีการบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดโรงพยาบาลก็จะเกิดการใช้จ่ายขึ้น ทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์ การลงทุนต่างๆ ซึ่งจะเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ดินในพื้นที่ใกล้กับโรงพยาบาลจะมีราคาที่สูงขึ้นและมีการสร้างอาคารพาณิชย์และที่พักอาศัยเพื่อรองรับการเติบโตของเมืองอย่างแน่นอน

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.