หวั่นประปาแม่สายปนเปื้อนหลังเครือข่ายว้าเตรียมเปิดโรงแต่งแร่

26

หวั่นน้ำประปาแม่สายปนเปื้อนแมงกานีสหลังเครือข่ายว้าเตรียมผุดโรงแต่งแร่แห่งใหม่ริมน้ำรวก-รัฐบาลทหารพม่าไฟเขียว USWA สัมปทานเหมืองในรัฐฉานส่งผ่านไทยไปขายจีน

วันที่ 11 กันยายน 2564 นายจายหอแสง ผู้ประสานงานมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation หรือ SHRF) เปิดเผยว่า นักวิจัยของมูลนิธิ ได้ออกรายงานเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนจากการพัฒนาเขตอุตสาหกรรมท่าขี้เหล็ก ในพื้นที่รัฐฉาน ทางตอนบนของแม่น้ำรวกและแม่น้ำสาย ที่ไหลผ่าน อ.แม่สาย จ.เชียงราย โดยระบุชื่อบริษัทแห่งหนึ่งของกองทัพว้า (United Wa State Army -USWA) โดยการสนับสนุนของรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งผลักดันการก่อสร้างโรงงานแต่งแร่แมงกานีสและโรงงานแปรรูปยางพารา โดยที่ดินที่รัฐบาลทหารเมียนมายึดมาจากชุมชนชาวรัฐฉาน บ้านห้องลึก ตั้งแต่ช่วงปี 2541 โดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยจวบจนปัจจุบัน และมีความขัดแย้งในที่ดินดังกล่าวที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ผู้ประสานงานมูลนิธิกล่าวว่าล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กันยายน เวลาประมาณ 09.00 น. เจ้าหน้าที่จากบริษัทของว้าประมาณ 70 คน มาพร้อมรถแบ็คโฮ 2 คัน เข้ามาในที่ดินของชาวบ้าน และทำลายสวนต้นขี้เหล็กและนาข้าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนมีปืนและมีด เมื่อชาวบ้านเจ้าของสวนประมาณ 20 คน ถามว่าใครสั่งให้มาทำลายสวนและนา เจ้าหน้าที่ดังกล่าวตอบเพียงว่ามาทำตามคำสั่งของเจ้านายเท่านั้น

 

“ชาวบ้านส่วนมากเป็นชาวไทใหญ่ ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่บริษัทได้เนื่องจากพูดภาษาว้า ชาวบ้านจึงเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ในท่าขี้เหล็ก จากนั้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย มาตรวจดูที่สถานการณ์ขณะที่บริษัทดำเนินการอยู่ แล้วเดินทางกลับ ไม่ได้ลงจากรถไปดูที่เกิดเหตุ ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกชาวบ้านเจ้าของที่ดินไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่สถานีตำรวจท่าขี้เหล็ก แต่ยังไม่มีคำสั่งให้บริษัทระงับการบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าวแต่อย่างใด” นายจายหอแสง กล่าว

 

นายจายหอแสง กล่าวอีกว่า “อีกสิ่งที่เราเป็นห่วงมาก คือโรงงานของว้าทั้งสองแห่ง ในเขตอุตสาหกรรมท่าขี้เหล็ก จะส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งสองฝั่ง รวมทั้งเขต อ.แม่สาย ด้วย เพราะแม่น้ำรวกเป็นแหล่งน้ำประปาของแม่สาย ที่สถานีสูบน้ำเกาะช้าง เคยมีรายงานการพบปริมาณแร่แมงกานีสในระดับสูง มีความกังวลว่าอาจเกิดผลกระทบทางสุขภาพของประชาชนผู้ใช้น้ำประปาดังกล่าว

 

ทั้งนี้มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ได้จัดทำเอกสาร “ปกป้องสบรวกและสามเหลี่ยมทองคำ รัฐบาลทหารเมียนมาเดินหน้าสร้างโรงงานของ UWSAกับการสร้างมลพิษอย่างกว้างขวาง” ออกเผยแพร่โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งระบุว่าแผนการก่อสร้างโรงงานดังกล่าวในพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็ก เป็นส่วนหนึ่งของที่ดิน 1,500 ไร่ ที่กองทัพเมียนมายึดไว้เพื่อสร้างเขตอุตสาหกรรมตั้งแต่ช่วงปี 2541 ซึ่งกลุ่มบริษัทของกองทัพว้าได้ครอบครองที่ดินดังกล่าว แต่ชาวบ้านไม่เคยได้รับค่าชดเชย จึงได้พยายามเรียกร้องตามช่องทางต่างๆ เพื่อขอที่ดินกลับคืนมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา ทั้งการเดินทางไปร้องเรียนที่เมืองหลวงเนปิดอว์ เขียนจดหมายร้องเรียนนางอองซานซูจี ผู้นำพรรค NLD ร้องเรียนต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฟ้องศาลจังหวัดท่าขี้เหล็ก แต่ความพยายามทั้งหมดกลับไม่เป็นผล

 

รายงานดังกล่าวระบุว่า บริษัทของว้าแห่งนี้ก่อตั้งโดยเหว่ยเซี๊ยะกัง ผู้นำเชื้อสายจีนของกองทัพว้า ก่อนหน้านั้นเคยพึ่งพารายได้จากยาเสพติด และพัฒนาเป็นกลุ่มธุรกิจครอบคลุมกิจการหลายประเภท รวมทั้งการก่อสร้าง เหมืองแร่ การฟอกเงินอย่างชัดเจนของบริษัทได้รับการหนุนหลังอย่างเต็มที่จากรัฐบาลทหารเมียนมา ซึ่งต้องการให้กองทัพว้าเป็นกันชนกับกองกำลังชาติพันธุ์ในรัฐฉาน โดยกองทัพว้ามีอำนาจเหนือดินแดนบริเวณพรมแดนไทย ช่วงปี 2542 มีการอพยพชาวว้าเข้ามามากว่า 126,000 คน บางส่วนอพยพมาในเมืองท่าขี้เหล็กซึ่งพื้นที่ที่กองทัพว้าได้มาจากการเวนคืนจากชาวบ้านเกษตรกรในช่วงที่นายพลเต็งเส่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพภาคสามเหลี่ยม และเป็นที่รู้กันว่าเป็นแหล่งผลิตยาเสพติด ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่าง UWSA กับรัฐบาลทหารเมียนมาปรากฏชัดเจนในปี 2543 เมื่อนายพลหม่อง เอ ผู้บัญชาการทหารบกของกองทัพเมียนมาในขณะนั้น ได้เดินทางมาด้วยตนเองเพื่อวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขาด 12 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ UWSA แต่จนบันนี้ยังไม่มีการก่อสร้างเนื่องจากได้รับการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ รวมถึงประชาชนฝั่ง อ.แม่สาย จ.เชียงราย เนื่องจากกังวลเรื่องมลพิษ และเมื่อเดือนมกราคม 2548 เหว่ยเซี๊ยะกังและผู้นำอีก 7 คนของ UWSA ถูกสั่งฟ้องศาลสหรัฐฯในข้อหาค้ายาเสพติด และคว่ำบาตรบริษัทในเครือเหว่ยเซี๊ยะกังทั้ง 17 แห่ง

 

ข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ของเว็บไซต์กระทรวงการเหมืองแร่เมียนมา ทำให้เห็นว่าบริษัท 10 แห่งได้รับสัมปทานทำเหมืองแร่แมงกานีสไดออกไซต์ โดยทั้งหมดอยู่ในภาคตะวันออกของรัฐฉาน ยกเว้นแห่งเดียวที่อยู่ในภาคตะนาวศรี ซึ่งในเมืองท่าขี้เหล็กการทำเหมืองแมงกานีสได้เริ่มที่เมืองโก ห่างจากท่าขี้เหล็กไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 20 กิโลเมตรโดยได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งชาติพันธุ์ลาหู่ อาข่าและไทยใหญ่ประมาณ 2,000 คน ทั้งในเรื่องการเวนคืนและแหล่งน้ำปนเปื้อนด้วยกากของเสียจากเหมืองแร่ การขนส่งแร่แมงกานีสนั้น โดยการขนด้วยรถบรรทุกจากเมืองโกไปเก็บไว้ก่อนข้ามสะพานมิตภาพแห่งที่ 2 เข้าสู่อำเภอแม่สาย ซึ่งจากตัวเลขพิกัดของกรมศุลกากรที่อำเภอแม่สายชี้ให้เห็นว่าแร่แมงกานีสเป็นหนึ่งในสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าสูงสุดจากพม่าผ่านด่านแห่งนี้ โดยปี 2553 นำเข้า 4.5 ตัน มูลค่า 17.8 ล้านบาท แต่พอปี 2562 นำเข้า 135,616 ตัน มูลค่า 203.8ล้านบาท โดยขนส่งไปยังท่าเรือแหลมฉบังเพื่อส่งต่อไปยังประเทศจีน“ในปี 2561 การประปาส่วนภูมิภาคของไทยได้เผยแพร่รายงานว่าพบปริมาณแร่แมงกานีสในระดับสูงในแม่น้ำรวก ซึ่งนำน้ำมาใช้ทำน้ำประปาในอำเภแม่สาย ทำให้น้ำขุ่นและมีกลิ่นเหม็น อย่างไรก็ตามล่าสุดบริษัทของ UWSA กำลังจะมีการสร้างโรงงานแต่งแร่แมงกานีสแห่งใหม่ริมแม่น้ำรวก ทำให้เกิดความกังวลต่อมลพิษที่จะเกิดขึ้นในน้ำ แม้ยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นการแต่งแร่แมงกานีสในรูปแบบใดในโรงงานที่วางแผนก่อสร้าง แต่คาดว่าต้องมีการหลอมแร่ในเตา ทำให้ต้องมีการปล่อยควันพิษสู่อากาศ” ในรายงานระบุ

 

ด้านนายดนัย วัชรเสถียร หัวหน้างานผลิต 8 การประปาส่วนภูมิภาค อ.แม่สาย กล่าวว่า ปัจจุบับ แม่น้ำรวกที่ไหลมาจาก จ.ท่าขี้เหล็กประเทศเมียนมา เข้าสู่ชายแดนประเทศไทย ที่ ต.เกาะช้าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปาในพื้นที่ ต.เกาะช้าง นั้น ทางเจ้าหน้าที่มีการเก็บตัวอย่างน้ำในทุกเช้าเพื่อตรวจหาสารปนเปื้อน เช่นคอรีน แมงกานีส โดยจะมีการส่งตรวจในทุกเดือน เพื่อวัดคุณภาพของน้ำดิบ โดยพบว่าสารปนเปื้อนที่มีในแม่น้ำรวกมีเพียงสารแมงกานีส แต่มีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก ในช่วงที่มีน้ำมาก สารปนเปื้อนที่มีอยู่ในแม่น้ำรวกก็จะเจือจงลงไปสามารถนำมาผลิตน้ำประปาได้ แต่หากเป็นช่วงน้ำแล้ง หรือน้ำน้อย ก็จะใช้แหล่งน้ำจากบาดาล ซึ่งมีบ่อบาดาลเป็นแหล่งน้ำในพื้นที่ ต.เกาะช้าง อยู่จำนวน 2 บ่อ ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาในช่วงน้ำแล้งได้ และหากตรวจพบสารปนเปื้อนในแม่น้ำรวกก็จะสามารถเปลี่ยนมาใช้แหล่งน้ำดิบจากบ่อบาดาลแทน

 

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.