ศอ.บต. ชื่นชม ชาวปะนาเระขึ้นป้าย “ไม่เอากระท่อม” ขอคนดีสู่สังคม

399

ตามที่ พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้มอบนโยบายเพื่อให้การแก้ไขปัญหาพืชกระท่อมและยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทุกหน่วยงานต้องทำความเข้าใจและนำปฏิบัติการ 120 วันไปปฏิบัติอย่างพร้อมเพรียงกันโดยมีเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน เน้นคุณภาพและผลลัพธ์ที่ประชาชนสัมผัสได้ รวมทั้งประกาศห้ามจำหน่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2568 เพื่อลดปัญหาการค้าและการใช้พืชกระท่อมอย่างผิดวัตถุประสงค์ในพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้แก่ อ.จะนะ, นาทวี, เทพา, และสะบ้าย้อย รวมทั้งหมด 688 ชุมชน

ซึ่งต่อมา พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สั่งการทุกหน่วยในพื้นที่ร่วมปฏิบัติการ 120 วัน วาระพืชกระท่อม ภายใต้แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบบูรณาการในทุกมิติ และล่าสุด ได้มอบหมายให้ นายธีรวิทย์ เฑียรฆโรจน์ ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ศอ.บต. ลงพื้นที่พบปะให้กำลังใจ ชุมชนเข้มแข็ง ในพื้นที่ต.ควน อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ที่ได้รวมพลัง เอาชนะกระท่อม ห้ามจำหน่ายในพื้นที่ต.ควน ภายใต้การนำของ นายภาคิน ซูสารอ นายก อบต.ควน กำนันตำบลควน ผู้ใหญ่บ้าน อีหม่าม รพ.สต.ควน แขวงการทางปะนาเระ และแขวงการทางสายบุรี ทหาร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปะนาเระ
นายภาคิน ซูสารอ นายก อบต.ควน กล่าวว่า เดิมร้านขายพืชกระท่อม ตั้งอยู่ใกล้ชุมชน ประมาณ 7 ร้าน บริเวณถนนสาย 42 ต่อมาได้ไปคุยเพื่อขอความร่วมมือ ขยับไปขายตรงจุดที่ไม่มีชุมชน ไม่มีชาวบ้านอาศัยเป็นพื้นที่ป่า แต่ถนนสาย 42 เป็นสายหลัก ผ่าน ปัตตานี-นราธิวาส เวลาผู้หลักผู้ใหญ่เดินทางลงพื้นที่ก็จะเห็น

“ทีมงานที่อยู่ข้างนอก หรือเพื่อนๆ ก็จะโทรมาแซวว่า นายกทำไม ขายสายใหมอยู่ริมถนน เหมือนเป็นของฝาก ประกอบกับทางจังหวัดและนายอำเภอมีนโยบาย ปลัดอำเภอก็มาคุย จึงเป็นที่มาของการผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับทุกหน่วยในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ตั้งแต่ไปปักป้าย “พวกเราไม่เอาน้ำกระท่อม” ประกาศห้ามจำหน่ายน้ำกระท่อมในพื้นที่ ชุมชนรวมใจ ห่างไกลน้ำกระท่อม พื้นที่นี้ไม่อนุญาตให้จำหน่ายหรือบริโภคน้ำกระท่อมเพื่อสุขภาพของเยาวชนและความสงบเรียบร้อยของชุมชน หยุดขาย หยุดดื่ม หยุดพฤติกรรมเสี่ยง รวมพลังต้านกระท่อมแปรรูป จึงไม่เห็นเขามาขายและขอให้เป็นแบบนี้ตลอดไป นอกจากนี้ก็ยังมีป้ายของแขวงการทางที่เป็นข้อกฎหมายอีกด้วย”

โดยที่ผ่านมามีการเดินรณรงค์ คนขายผิดข้อกฎหมายของแขวงการทาง เพราะวางขายริมถนนซึ่งเป็นเขตพื้นที่ของแขวงการทาง ซึ่งแขวงการทางพยายามแก้ปัญหาขุดคลองระบายน้ำเพื่อไม่ให้ร้านตั้งขาย เมื่อแขวงการทางขุดจุดนี้ คนขายก็ขยับไปห่างออกไปอีก จึงต้องช่วยกัน รณรงค์ แขวนป้าย ไม่เอากระท่อม

“การที่ตั้งขายริมถนนเพราะว่าไม่ได้เป็นยาเสพติด มันเสรี คือ ไม่ได้ตั้งธงว่าจะไปจับ เพียงแค่จะลงให้ความรู้ป้อมปราม ตักเตือน เราก็ไปแปะป้าย แต่วันที่ลงไปเขาก็ไม่อยู่แล้ว เราก็เลยได้ปักป้าย”

ด้าน นายซอบรี แยแลขอ อีหม่ามมัสยิดในพื้นที่ต.ควน กล่าวว่า จากที่ลงไปพูดคุยก็จะอ้างว่า ไม่มีงานทำ ซึ่งงานอื่นมีอีกเยอะ คนที่ไปทำงานอื่นก็ไม่ได้อดตายการที่ไปทำงานแบบนั้นไม่ได้มีความเป็นสิริมงคล ได้เงินมาไม่ดี อยากให้กลับใจ มาทำในสิ่งดีๆ ได้ปัจจัยที่เป็นสิริมงคลดีกว่า

“การแก้ปัญหากระท่อมตอนนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ เพราะมีการขายที่อิสระ อยากจะให้ทุกคน ทุกหน่วยงาน และทุกพื้นที่มาช่วยกัน ที่สำคัญการพัฒนาประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สำคัญที่สุด ถ้าเยาวชนไปยุ่งกับสิ่งเหล่านี้ การพัฒนาจะล่าช้ามาก เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ

ในทางฐานะเป็นอีหม่ามก็กลัวว่า คนดีเข้ามัสยิดน้อย อนาคตอาจจะไม่มีคนเข้ามัสยิดเพราะวัยรุ่นไปติดกระท่อม ตอนนี้บางพื้นที่วัยรุ่นไม่มาละหมาดที่มัสยิดเลย ติดกระท่อมกันหมด กลัวว่าจะไม่มีคนดีที่อยู่ในมัสยิด อยู่ในวัด พอไม่มีคนดีก็จะเกิดปัญหาอื่นตามมาอีก มีการหย่าร้าง จากสถิติของปัตตานี มีการหย่าร้างเดือนหนึ่งประมาณ 40 กว่าคน เพราะสามีไปติดกระท่อม ไม่กลับบ้าน ทำให้ภรรยาต้องมาขอหย่ากับคณะกรรมการอิสลาม พอสืบไปสืบมา ภรรยาจะบอกว่า บังไปอยู่ในป่า 3 เดือนไม่กลับบ้านเลย ก็มีความหวังว่าการที่เรามาร่วมกันทำเรื่องนี้จะช่วยให้อนาคตของเราอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้อง”

นางอัฒนิกา เกื้อไชย ผู้ใหญ่บ้านในต.ควน กล่าวว่า ในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้ผลักดันเรื่องนี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน จากที่มีการวางขายตรงแหล่งชุมชนจนทำให้ขยับไปขายตรงที่ไม่มีชุมชนก็ดีใจ

“แต่พอเขาย้ายไปตรงนั้น เหมือนจะมาซื้อกันเยอะมากๆ จากตั้งบนรถ เริ่มมีเพิง มีห้องน้ำ เป็นที่มาทำให้ทุกหน่วยในพื้นที่มาร่วมกันรณรงค์ก็ดีใจ เพราะเยาวชนของเราเยอะเหมือนกันที่ไปติดตรงนั้น ถ้าทำให้ร้านเหล่านี้ออกจากพื้นที่ไปได้ ไม่สามารถซื้อง่ายขายคล่องได้ก็ดีใจมาก”

จากการตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกในพื้นที่พบว่า ขณะนี้ยังมีอีกหลายพื้นที่ รวมพลังกันต้านกระท่อม ไม่ให้มีวางจำหน่าย และอีกหลายจุดมีการขึ้นป้ายไม่เอากระท่อมเช่นเดียวกับในพื้นที่ต.ควน คาดว่าในอนาคต ปัญหาเยาวชนติดน้ำกระท่อมจะหมดไปจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.