อบต.บาโร๊ะ ผนึกกำลังผู้นำชุมชน สู้ยาเสพติดแบบยั่งยืน เจอโจทย์ใหญ่วงจร “บำบัดแล้วกลับไปติดซ้ำ” เหตุไร้อาชีพ

315

นายอับดุลรอซิ ทาเนาะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา พร้อมด้วย นายสะอารี ยาลอ กำนันตำบลบาโร๊ะ, นายอับดุลเราะมัน ลือแบเตะ สารวัตรกำนัน, ผู้ใหญ่บ้าน, ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โต๊ะครูและเยาวชนในพื้นที่ ร่วมประชุมหารืออย่างจริงจังเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน สอดรับกับนโยบาย “วาระ 120 วัน” แก้ไขปัญหาพืชกระท่อม ของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและ พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
นายสะอารี ยาลอ กำนันตำบลบาโร๊ะ เน้นย้ำถึงปัญหาเร่งด่วนที่พบเจอ คือ ผู้ที่ผ่านการบำบัดยาเสพติดมักกลับไปติดซ้ำอีกครั้ง เนื่องจากขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ทำให้ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้และหวนคืนสู่วังวนเดิม

นายอับดุลรอซิ ทาเนาะ นายก อบต.บาโร๊ะ กล่าวเสริมว่า ปัญหาเริ่มต้นตั้งแต่พ่อแม่ของ ผู้ติดยาโทรมาขอให้ผู้นำช่วยพาไปบำบัด แต่กลับไม่มีเงิน ทำให้ภาระตกอยู่กับผู้นำชุมชน “บางที อบต.ช่วย กำนันเราช่วยๆ กัน แต่บางครั้งกลุ่มที่ส่งไปก่อนหน้านี้ก็กำลังจะกลับ พอกลับมาแล้วไม่มีที่ไปเพราะเขาไม่มีอาชีพ สุดท้ายก็กลับไปวงจรเดิม” นายก อบต.กล่าว สะท้อนความท้าทายในการจัดการผู้ที่เคยติดยาอย่างยั่งยืน

นายอับดุลรอซิ ฯ กล่าวย้ำว่า เราได้สร้างภูมิคุ้มกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อแก้ไขปัญหานี้ ชุมชนได้แบ่งแนวทางปฏิบัติออกเป็น 3 กลุ่มหลัก กลุ่มผู้ต้องบำบัด ชุมชนต้องร่วมรับภาระค่าใช้จ่ายและประสานงานในการส่งตัวผู้ติดยาเข้าสู่กระบวนการบำบัด และ ผู้ที่กลับมาจากการบำบัดและยังไม่มีงานทำ จะได้รับการสนับสนุนให้ไปอยู่ที่สถาบันปอเนาะ โดยชุมชนจะช่วยกันจัดหาอาชีพและกิจกรรมให้พวกเขาได้มีส่วนร่วม เพื่อป้องกันการกลับไปติดซ้ำ สำคัญต้องมีอาชีพให้เขาได้อยู่ในสังคมได้  และกลุ่มเสี่ยงคือ เยาวชน เด็กกำพร้า เยาวชนที่ไม่มีที่ไป ซึ่งบาบอได้รับภาระอยู่ 20 กว่าคน ผู้นำในพื้นที่มีความมุ่งมั่นในการ สร้างเกราะป้องกันให้กับเด็กและเยาวชนที่เป็น “กลุ่มเสี่ยง” โดยเฉพาะผู้ที่พ่อแม่ไม่อยู่ในพื้นที่หรือไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งอาจขาดการดูแลเอาใจใส่

ชุมชนได้ริเริ่มแนวทางสำคัญโดยการ นำเด็กกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ไปฝากไว้กับสถาบันปอเนาะ เพื่อให้ได้รับการดูแลด้านการศึกษา ศาสนา และคุณธรรมอย่างใกล้ชิด โดยผู้นำศาสนา (บาบอ) ในปอเนาะได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันชีวิต และเป็น “พี่เลี้ยง” ให้กับคนรุ่นใหม่ พร้อมบ่มเพาะให้เติบโตเป็นกำลังสำคัญในการแก้ไขปัญหาสังคมต่อไป

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.