ชีลจบภาระกิจขนอุปกรณ์เสร็จแล้วค้างถังจมทรายข้างในอีก40ถัง

31

วันที่ 2 มี.ค.62 หลังจากที่กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.เชียงราย และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือหน่วยชีล.นำกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนกว่า 110 นาย เข้าไปปฏิบัติการเก็บกู้อุปกรณ์ที่คงค้างอยู่ภายในถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) จากปฏิบัติการช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คน ตั้งแต่กลางปี 2561 ที่ผ่านมานั้น ตั้งแต่ ระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค ล่าสุดการขนย้ายอุปกรณ์หลักๆ ได้แล้วเสร็จแล้วโดยมีการระดมกำลังหน่ยชีล มณฑลทหารบกที่ 37 ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำการขนอุปกรณ์ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์สื่อสาร หลอดไฟฟ้า สายไฟฟ้า ถังอ๊อกซิเจน เชือก โดยทั้งหมดถูกนำมาจากภายในถ้ำส่วนลึกที่สุดประมาณ 2.30 กิโลเมตรตั้งแต่ก่อนถึงหาดพัทยาหรือพัทยาบีช สามแยก โถงที่ 1-3 โดยพบว่าพื้นที่ส่วนใหญ่น้ำแห้งยกเว้นที่สามแยกที่ยังมีน้ำท่วมอยู่บางส่วนและพื้นที่ตอนในบริเวณหาดพัทยาหรือพัทยาบีชลึกประมาณ 2.150 เมตรหรือห่างจากสามแยกภายในถ้ำประมาณ 150 เมตรยังมีทรายอุดตัน

โดยอุปกรณ์ส่วนใหญ่ที่ขนย้ายออกจากถ้ำในวันนี้เป็นของหน่วยชีลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเป็นถังอ๊อกซิเจน เชือก ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ระดมกำลังกันขนออกจากโถง 1 ไปยังยานพาหนะของทหารและนำส่งต้นสังกัดโดยเฉพาะหน่วยชีลในวันเดียวกัน โดยครั้งนี้ทาง พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยชีล ได้มอบหมายให้ น.อ.สุริยัน สำราญใจ ผบ.กรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยชีล นำเจ้าหน้าที่ทหารเรือขนย้ายอุปกรณ์กลับหน่วยและถือเป็นการอำลาปฏิบัติการขนย้ายที่ถ้ำหลวงเนื่องจากปฏิบัติที่กองอำนวยการฯ กำหนดจะมีขึ้นอีกครั้งระหว่างวันที่ 26-29 มี.ค.62 จะเป็นหน่วยพลเรือนนำโดย ปภ.และกรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นหลักโดยจะไม่มีหน่วยชีลเข้าไปนำร่องเหมือนที่ผ่านมาอีก ทำให้เจ้าหน้าที่หลายนายที่จะเดินทางกลับต่างไปอำลาอนุสาวรีย์ของนาวาตรีสมาน กุนัน หรือจ่าแซมผู้เสียสละบริเวณหน้าถ้ำก่อนเดินทางกลับ

ด้านนายไพฑูรย์ นาคแท้ ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เขต 15 ในฐานะผู้อำนวยการปฏิบัติการในครั้งนี้พร้อมด้วยนายกมลไชย คชชา ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ 15 เชียงราย นายกวี ประสมพล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวงฯ น.อ.สุริยัน ได้ร่วมกันแถลงปิดปฏิบัติการในช่วงแรกนี้โดยทางนายไพฑูรย์เป็นตัวแทนของ จ.เชียงราย มอบอุปกรณ์อินเตอร์คอมที่ใช้สื่อสารภายในถ้ำหลวงตลอดระยะเวลาปฏิบัติการที่ผ่านมาให้กับหน่วยชีลจำนวน 2 ชุดและมอบหลอดไฟส่องสว่างภายในถ้ำให้ด้วยจำนวน 40 ชุด เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมของกองทัพเรือด้วย

นายไพฑูรย์ กล่าวว่าปฏิบัติการระหว่างวันที่ 18-20 มี.ค.นี้ได้มีหน่วยชีลนำร่องเข้าไปเพราะแม้จะมีการสำรวจที่ตั้งอุปกรณ์ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่ผ่านมาแต่เมื่อระยะเวลาเปลี่ยนไปสภาพภายในถ้ำก็ยังคงอันตรายโดยบางจุดยังไม่สามารถเข้าไปได้เพราะมีทรายทับถม แต่ก็สามาถนำอุปกรณ์ออกมาตามเป้าหมายประกอบไปด้วยหัวใจสำคัญของปฏิบัติการคืออุปกรณ์การสื่อสารซึ่งแบ่งเป็น 3 ส่วนคือวิทยุสื่อสาร 3 ชนิดที่มีการใช้การเชื่อมต่อด้วยอุปกรณ์อินเตอร์คอม ทำให้สามารถเชื่อมความถี่ถึงกันได้ทุกอุปกรณ์และแต่ละหน่วยหมดส่งผลให้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติการช่วยเหลือและการเก็บกู้อุปกรณ์ครั้งนี้สามารถสื่อสารตั้งแต่ภายนอกถ้ำไปจนถึงสามแยกภายในถ้ำได้ นอกจากนี้มีเสาอากาศชนิดสะท้อนเสียง 45 องศาที่มีความอ่อนตัวสามารถไปตามแนวโค้งในถ้ำได้
สำหรับอุปกรณ์ที่คงค้างรอขนรอบ 2 เช่น ปั้มน้ำขนาดใหญ่ น้ำหนัก 110 กิโลกรัม 6 ตัว, 80 กิโลกรัม 5 ตัว และ50 กิโลกรัม อีกกว่า 20 ตัว ส่วนสิ่งที่จะทิ้งเอาไว้ไม่ขนออกคือท่อเอชดีพีอีหรือท่อน้ำสีเหลืองยาว ลึกจากปากถ้ำเข้าไปประมาณ 200 เมตร โดยจะปล่อยทิ้งไว้เป้นประวัติศาสตร์เพราะใช้สำหรับผันน้ำออกแต่จะสำรวจข้อมูลก่อนส่งมอบให้กรมอุทยานฯ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมภายในถ้ำ

ด้าน น.อ.สุรยัน กล่าวว่าสำหรับถังอ๊อกซิเจนที่คงค้างอยู่ภายในมีจำนวนเกือบ 400 ถัง ซึ่งในครั้งนี้สามารถนำเอาออกมาได้จำนวน 337 ถัง และยังคงค้างอยู่ภายในประมาณ 40 ถังเนื่องจากไม่สามารถนำออกมาได้เพราะถูกทรายทับถมอยู

โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้มีการติดตั้งหลอดไฟอัจฉริยะที่ใช้ถ่านไฟฉายทำให้อยู่ได้นาน 5 วันติดตั้งตั้งแต่โถงที่ 1 ไปจนถึงสามแยกภายในถ้ำเพื่อใช้นำทางสำหรับปฏิบัติการรอบที่ 2 เนื่องจากจะไม่มีหน่วยชีลคอยนำร่องอีก โดยเมื่อถึงเวลาเจ้าหน้าที่จะมีการนำถ่านไฟฉายเข้าไปเปลี่ยนเพื่อให้เกิดแสงสว่างเช่นเดิมและจะทำการขนย้ายอุปกรณ์หนักออกมาอีกครั้งโดยอุปกรณ์จะมีการพิจารณาส่งมอบคืนให้หน่วยงานเดิมหรือนำมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์หน้าถ้ำหรือคงค้างไว้ภายในต่อไป.

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.