มฟล.เปิดเวทีราชบัณฑิตสัญจรเรื่อง “พระมหากษัตริย์ไทยในระบบประชาธิปไตย”

6

Apr091153520

Apr091153521

 

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2557 ที่ผ่านมา ณ อาคารพลตำรวจเอกเภา สารสิน มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เปิดเวทีราชบัณฑิตสัญจรเรื่อง “พระมหากษัตริย์ไทยในระบบประชาธิปไตย” โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม ร่วมเป็นวิทยากร และมีศาสตราจารย์ไชยยศ เหมะรัชตะ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยมีผู้สนใจเข้าฟังทั้งในส่วนราชการ เอกชน โรงเรียน มหาวิทยาลัย ภายในจังหวัดเชียงรายเป็นอย่างมาก

เริ่มต้นปาฐกถาด้วยทัศนะของ ศ.ดร.วิษณุ เครืองาม กล่าวถึงประชาธิปไตยของไทยนั้น วางรากฐานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 จากการเลิกทาส ถือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความเท่าเทียมกัน แม้ว่าในสมัยก่อนพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจเต็มในการที่จะทำอะไรก็ได้ ออกกฎหมายอย่างไรก็ได้ แต่พระราชอำนาจก็ถูกใช้ในกรอบของทศพิศราชธรรม และโบราณราชประเพณี

มีคนบางกลุ่มมองว่า การมีพระมหากษัตริย์ไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตยของโลกสมัยใหม่ มักจะเอาไทยไปเทียบกับบางประเทศ แต่กลับลืมมองไปว่าหลายประเทศที่มีประชาธิปไตยแข็งแกร่งกว่าไทยอย่างอังกฤษ หรือในเอเชียอย่างญี่ปุ่น ต่างก็ปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยที่มีกษัตริย์เป็นประมุข

ระบบกษัตริย์ของแต่ละประเทศ ล้วนหล่อหลอมมาจากวิธีคิด วิธีปฏิบัติ ขนบธรรมเนียม ความคาดหวังของสังคมที่ไม่เหมือนกันกษัตริย์จึงมีวิธีปฏิบัติที่อาจคล้ายคลึงหรือแตกต่างกันไป เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ที่ต้องมีรูปแบบเป็นสากล แต่ก็จะมีเอกลักษณ์ของแต่ละที่ การเลือกตั้งคือส่วนหนึ่งของประชาธิปไตย แต่คนมักจะลืมว่าประชาธิปไตยต้องอยู่คู่กับคำว่าคุณธรรม ต้องเลือกตั้งด้วยกติกาที่เป็นธรรม หากเราจะเลือกอะไรก็ตาม ต้องรู้ที่มาที่ไป คนดีที่มีคุณธรรมกับคนดีที่คอร์รัปชั่น คงต้องเลือกโดยใช้วิจารณญาณของตนเอง

สุลต่านโบลเกียห์ กษัตริย์แห่งบูรไน ตรัสในงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไว้ว่า “การที่ฝ่าพระบาทเป็นกษัตริย์ แล้วครองราชย์ 60 ปี ในทัศนะของเกล้ากระหม่อมทั้งหลาย ไม่มีใครรู้สึกเป็นเรื่องแปลก แต่แปลกที่กษัตริย์องค์หนึ่งปกครองแผ่นดินครบ 60 ปีแล้วยังมีคนรักอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคนในประเทศหรือต่างประเทศ นั่นคือสิ่งที่บรรดาพระมหากษัตริย์ในที่แห่งนี้ภาคภูมิใจ ที่กษัตริย์องค์หนึ่งได้สร้างคุณค่าให้กับสถาบันกษัตริย์ทั่วโลกได้”

จากนั้นเป็นปาฐกถาของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้ให้ความรู้ว่าใน 193 ประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ มีเพียง 22 ประเทศที่มีกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และมีการตั้งคำถามว่า กษัตริย์จะเข้ากับระบอบประชาธิปไตยได้หรือ มีความพยายามจะเอาไทยไปเทียบกับชาติอื่น โดยลืมมองไปว่าไทยมีวิถีทางเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ก็มีความเป็นสากลในกระแสโลก มีความเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์เช่นเดียวกับชาติอื่น

พระมหากษัตริย์ไทย ทรงใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานความเป็นธรรมแก่ปวงชน ประชาชนสามารถถวายฎีกาได้ ขอพระราชทานความเป็นธรรมได้ ขออภัยโทษได้ ในปีหนึ่งๆ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอ่านฎีกาเป็นพันๆ ฉบับด้วยพระองค์เอง จะเห็นได้ว่าเมื่อเกิดความไม่เป็นธรรม กษัตริย์ต้องเป็นผู้ดับอธรรม ตามพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

ภายหลังเสร็จสิ้นการปาฐกถา รศ.ดร.วัยชัย ศิริชนะ อธิการบดี มฟล. ได้มอบของที่ระลึกให้แก่ ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม และศาสตราจารย์ไชยยศ เหมะรัชตะ

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.