ลุยหนักแก้ขยะผู้ว่าฯชี้วันละ1.2ล้านกิโลฯหวังใช้ต้นแบบ18อำเภอลดปริมาณขยะ

12

1 (1)

วันที่ 6 ก.ย.59ที่ลานกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่าเชียงราย อ.เมือง จ.เชียงราย นายบุญส่ง เตชะมณีสถิตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “อบจ.เชียงราย สานพลังเครือข่ายชุมชนท้องถิ่นสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน” โดยมีนายบรรเจิด ภูสมศรี รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย พล.ต.พิศาล นาคผจญ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 37 ผู้แทนชุมชนต้นแบบจำนวน 18 ชุมชน เครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 18 อำเภอ เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยภายในงานมีการจแสดนิทรรศการผลงานของชุมชนต้นแบบต่างๆ ที่จัดการปัญหาขยะได้เป็นอย่างดี
นายบุญส่ง กล่าวว่า จ.เชียงราย มีประชากรประมาณ 1.2 ล้านคนและเฉลี่ยแต่ละคนผลิตขยะออกมาวันละประมาณ 1 กิโลกรัมก็จะเท่ากับ 1.2 ล้านกิโลกรัม ทำให้ในแต่ละปีจึงเกิดขยะปริมาณมหาศาลขณะที่ทั้งจังหวัดมีแหล่งกำจัดขยะที่ถูกสุขลักษณะจริงๆ เพียงแค่ 2 แห่งคือของเทศบาลนครเชียงรายพื้นที่ ต.ห้วยสัก อ.เมือง และเทศบาล ต.แม่สาย ที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ส่วนที่เหลือก็หาที่ทิ้งกันไปตามยถากรรมโดยหาที่่ว่าหรือบางครั้งแอบทิ้งตามป่าเขาจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนถึงปัจจุบัน จึงเสี่ยงต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพราะเมื่อฝนตกลงมาขยะลงมาสารจากขยะก็จะถูกดูดซึมลงใต้ดินซึ่งกว่า 30% ของหมู่บ้านในจังหวัดมีการเจาะบ่อบาดาลมาใช้กันทั้งนั้นจึงถือเป็นเรื่องที่เสี่ยงต่ออันตรายอย่างมาก
นายบุญสง กล่าวอีกว่าดังนั้นการที่ อบจ.เชียงราย มีการร่วมกับเครือข่ายทั้ง 18 อำเภอจึงแก้ไขปัญหาได้ถูกทางโดยจะใช้วิธีการแก้ไขโดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1.ลดขยะตั้งแต่ต้นทางด้วยการให้ประชาชนลดขยะลงให้เหลือเฉลี่ยคนละ 0.4 กิโลกรัม ส่วนที่เหลือหากเป็นประเภทที่นำมาใช้ใหม่ได้หรือรีไซเคิล เช่น ขวด พลาสติก กระป๋อง ฯลฯ ก็ให้แยกออกไปรวบรวม ณ จุดรวมของแต่ละหมู่บ้านชุมชนเมื่อครบ 1 สัปดาห์ก็ให้พ่อค้ารับซื้อไปซื้อโดยเงินที่ได้อาจจะให้เจ้าของขยะหรือนำเข้าเป็นกองทุนส่วนรวม ส่วนขยะอีกส่วนก็นำไปทำเป็นปุ๋ยโดยปัจจุบันมีการส่งเสริมทำเสวียนหรือไม้ไผ่สานเพื่อหมักขณะที่เหลือจริงๆ กอาจจะไม่ถึง 30-40% ซึ่งก็สามารถนำไปทิ้งให้ท้องถิ่นกำจัดได้ตามปกติต่อไป
“จังหวัดยังได้ส่งเสริมแต่ละโรงเรียนให้มีธนาคารขยะโดยทำบัญชีรับขยะจากนักเรียนเอาไว้ เมื่อจะจบการศึกษาแล้วไปเรียนต่อก็จะได้รับเงินจากค่าขายขยะตามที่แต่ละคนสะสมเพื่อนำไปเป็นทุนค่าเรียนต่อๆ ไป แต่เป้าหมายไม่ใช่เรื่องเงินแต่เพื่อสร้างจิตสำนึกในเด็กและเยาวชนมากกว่า” นายบุญส่ง กล่าวและว่าสำหรับส่วนที่ 2 เป็นขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ก็กำลังผลักดันให้มีโรงเผาขยะเพื่อนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ทาง พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเรื่องนี้มากจึงจะเดินทางไปดูการทำงานที่ จ.เชียงราย ณ หมู่บ้านโป่งนคร ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศชุมชนต้นแบบและเป็น 1 ใน 18 หมู่บ้านต้นแบบของ จ.เชียงราย ซึ่งจะได้ขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ให้ครบถ้วนต่อไป.
ด้านนายบรรเจิด กล่าวว่าปัจจุบัน อบจ.เชียงราย ดำเนินการพัฒนาหมู่บ้านต้นแบบได้ครบทั้ง 18 อำเภอและมีหมู่บ้านที่มีเสวียนใส่ขยะอย่างทั่วถึงในหมู่บ้านแล้วจำนวนกว่า 105 หมู่บ้าน โดยได้มีการทำข้้อตกลงระหว่าง อบจ.เชียงราย ผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีนายอำเภอและผู้เกี่ยวข้องเป็นพยานให้แต่ละชุมชนมีเสวียนครบทุกครัวเรือน และมีที่เก็บขยะที่ชัดเจนเพื่อจะได้แยกขยะได้ รวมทั้งทุกครัวเรือนมีการปลูกผักปลอดสารพิษโดยมีการทำปุ๋ยหมักจากเสวียนดังกล่าว ซึ่งจากการที่มีหมู่บ้านต้นแบบดังกล่าวก็จะสามารถขยายผลไปยังหมู่บ้านอื่นๆ ตามโครงการนี้ได้ต่อไป.

แสดงความคิดเห็น

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.